ติดตั้งก๊าซ NGV สำหรับเครื่องยนต์ดีเซล
บริการติดตั้งอุปกรณ์ NGV ระบบเชื้อเพลิงร่วม (Diesel Dual Fuel System, DDF)
วิธีนี้ไม่ต้องดัดแปลงเครื่องยนต์ดีเซลเดิมเพียงแต่ติดตั้งอุปกรณ์ NGV เพิ่มเติมเท่านั้น กล่าวคือเครื่องยนต์ยังใช้น้ำมันดีเซลในการจุดระเบิด เมื่อการเผาไหม้เกิดขึ้นแล้วจะใช้ NGV เป็นเชื้อเพลิงเผาไหม้ทดแทนน้ำมันดีเซลต่อไป สำหรับประสิทธิภาพเครื่องยนต์เมื่อใช้เชื้อเพลิงร่วม (NGVและดีเซล) ขึ้นอยู่กับ
- สภาพเครื่องยนต์เดิมนั้นๆ
- เทคโนโลยีและประสิทธิภาพของอุปกรณ์ NGV
- ความชำนาญของผู้ติดตั้ง
- ลักษณะการใช้งานของรถ ฯลฯ
ดังนั้นเทคโนโลยีสามารถปรับจูนให้ระบบสามารถนำ NGV เข้าไปเผาไหม้ทดแทนน้ำมันดีเซลได้มากเท่าไร ก็จะทำให้ผู้ใช้ระบบสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงได้มากเท่านั้น ระบบนี้สามารถเลือกใช้น้ำมันดีเซลอย่างเดียวหรือใช้เชื้อเพลิงร่วม (NGV และดีเซล) ก็ได้ โดยการปรับสวิตช์เลือกใช้เชื้อเพลิง ซึ่งสามารถวิ่งได้ระยะทางประมาณ 300-500 กิโลเมตร สำหรับการติดตั้งถัง NGV ขนาดถังบรรจุ 140 ลิตรน้ำ 3-5 ถัง ต่อการเติม NGV 1 ครั้ง ซึ่งมีระบบควบคุมการจ่าย NGV แบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ
ระบบดูดก๊าซ (Fumigation System)
ที่มีระบบควบคุมแบบธรรมดา (Mechanic Control) หรือแบบวงจรเปิด โดย NGV จากถังบรรจุจะถูกปรับความดัน (Pressure Regulator) จาก 200 บาร์ ให้ลดต่ำลง เพื่อถูกดูดไปผสมกับอากาศ (Gas Mixer) บริเวณท่อร่วมไอดีในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับการเผาไหม้ก่อนที่จะจ่ายเข้า เครื่องยนต์ บางยี่ห้ออาจมีชุดควบคุมการจ่ายก๊าซอิเล็คทรอนิคส์ (Electronic Control Unit : ECU) ควบคุมการจ่าย NGV เข้าสู่ห้องเผาไหม้ของเครื่องยนต์โดยแปรผันตามความเร็วรอบของเครื่องยนต์
จากผลการทดสอบการใช้งานจริงของรถบรรทุก และรถหัวลาก ที่ติดตั้งอุปกรณ์ NGV ชนิดนี้ ซึ่งใช้ NGV ในประเทศไทย โดยเฉลี่ยสามารถใช้ NGV เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันดีเซลได้ประมาณร้อยละ 25 – 50 และทดแทนน้ำมันดีเซลได้สูงสุดถึงร้อยละ 60 สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายประมาณร้อยละ 15-40 และยังช่วยลดปริมาณควันดำจากการเผาไหม้ลงด้วย
ระบบฉีดก๊าซ (Injection System)
โดย NGV จากถังบรรจุ เมื่อถูกปรับลดความดัน (Pressure Regulator) จาก 200 บาร์ ให้ลดต่ำลง จะถูกฉีดเข้าผสมกับอากาศบริเวณท่อร่วมไอดีจ่าย NGV จุดเดียว (Single Point Injection) และท่อไอดีของแต่ละกระบอกสูบ (Multi Point Injection : MPI) ในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับการเผาไหม้ ก่อนที่จะจ่ายเข้าเครื่องยนต์ รูปแบบที่มีใช้ในปัจจุบันมีอยู่ 3 แบบ ดังนี้
- แบบฉีดก๊าซ ชนิด Single Point Injection Open Loop
ที่มีระบบควบคุมแบบวงจรเปิด ซึ่งจะฉีด NGV เข้าผสมกับอากาศบริเวณท่อร่วมไอดี โดยใช้ ECU ควบคุมการจ่าย NGV โดยแปรผันตามความเร็วรอบของเครื่องยนต์ ทั้งนี้ ประสิทธิภาพการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงร่วมจะขึ้นอยู่กับการออกแบบโปรแกรมการ ควบคุมการจ่าย NGV นั่นเอง - แบบฉีดก๊าซ ชนิด Single Point Injection Close Loop
ที่มีระบบควบคุมแบบวงจรปิด ซึ่งจะฉีด NGV เข้าผสมกับอากาศบริเวณท่อร่วมไอดีเช่นเดียวกับ ข้อ ก. แต่จะมีใช้อุปกรณ์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ (ECU) และใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมการจ่าย NGV ให้เหมาะสมกับปริมาณอากาศที่เข้าสู่ห้องเผาไหม้และปรับการจ่ายน้ำมันดีเซล ที่ปั๊มเพื่อให้อัตราส่วน NGV ต่อน้ำมันดีเซลเหมาะสมสำหรับการเผาไหม้ที่สภาวะการทำงานต่างๆ ของเครื่องยนต์ ทั้งนี้ ประสิทธิภาพการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงร่วมจะขึ้นอยู่กับการออกแบบหัวฉีดก๊าซ อุปกรณ์ตรวจวัดสัญญาณการทำงานของเครื่องยนต์ เช่น ตัวตรวจวัดออกซิเจน (Oxygen Sensor) ตัวตรวจวัดตำแหน่งปีกผีเสื้อ (Throttle Position Sensor) ฯลฯโปรแกรมควบคุมการจ่ายเชื้อเพลิง และการปรับตั้งอัตราส่วนผสม NGV กับน้ำมันดีเซล - แบบฉีดก๊าซ ชนิด Multi Point Injection
ที่มีระบบควบคุมแบบวงจรปิด มีหลักทำงานคล้ายๆ กับข้อ ข. แต่จะฉีดก๊าซเข้าผสมกับอากาศบริเวณท่อไอดีของแต่ละกระบอกสูบ ซึ่งจะมีประสิทธิภาพการเผาไหม้ อัตราการใช้เชื้อเพลิง และไอเสียดีกว่าระบบ DDF แบบอื่นๆ แต่มีราคาสูงกว่ามาก